[Tlc] TC-Cambodia-Thai relations

justinm at ucr.edu justinm at ucr.edu
Thu Apr 16 16:44:50 PDT 2009


Forwarded from Dr. Charnvit Kasetsiri.
Thanks,
justin


My article on Thai-Khmer Nationalism: click
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01160452&sectionid=0131&day=2009-04-16
or see below.
Regards.
ck

 
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ลัทธิชาตินิยม ไทย-สยาม กับ กัมพูชา ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม





ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กราบคารวะ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์


คัดตัดทอนจากหนังสือที่ระลึก การแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 11 โดย อ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

การเขียนประวัติศาสตร์ "ใหม่" พร้อมด้วยวาทกรรม "การเสียดินแดน" จะอยู่ในบริบทเดียวกันของการเขียนอดีตของไทยว่าด้วยความยิ่งใหญ่ของ "ชนเชื้อชาติไทย" ที่มีความเก่าแก่ถึง 5 พันปี มีสถานะที่เป็น "พี่เอื้อยของจีน" (C. Dodd : Thai Race : The Elder Brother of Chinese) อพยพโยกย้ายมาจาก "ภูเขาอัลไต" และหลบหนีภัยมาจาก "อาณาจักรน่านเจ้า" จนเข้ามาถึง "แหลมทอง" หรือ "สุวรรณภูมิ"

วาทกรรมดังกล่าวจะได้รับการเผยแพร่ผ่านตำราเรียนของนายทองใบ แตงน้อย (ซึ่งก็ไม่สู้ได้รับความสนใจจากนักประวัติศาสตร์หรือนักวิชาการไทยกระแสหลักเท่าไรนัก) ดังนั้น จึงขอสรุปเพียงสังเขปไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้เราเห็นถึงบริบทของวาทกรรมสำคัญดังกล่าวข้างต้น

ทองใบ แตงน้อย มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2454-2529 ถ้าจะเทียบกันแล้ว ก็คือ 1 รอบนักษัตรหลังคนรุ่นขุนวิจิตรมาตรา (2440-2523) เจ้าของผลงาน "หลักไทย" ที่กล่าวถึงกำเนิดของชนชาติไทยในเทือกเขาอัลไต และหลวงวิจิตรวาทการ (2441-2505) ผู้สร้างวาทกรรมดังกล่าวข้างต้น ทองใบเป็นอาจารย์ใหญ่จากปราจีนบุรี หนังสือเล่มสำคัญของท่าน ก็คือ "ภูมิศาสตร์ประเทศไทย" หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2506 หรือเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว และฉบับที่ผู้เขียนได้นำมาเพื่อประกอบการวิเคราะห์ครั้งนี้ พิมพ์เป็นครั้งที่ 42 (โดย ทวพ. จำนวนพิมพ์ 3 หมื่นเล่ม) ผู้เขียนเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ของทองใบ แตงน้อย เป็นหนังสือที่ทรงพลังสะกดจิตคนไทย (หรือคนที่เชื่อว่าตนเองเป็นคนไทย) มากที่สุดเล่มหนึ่ง และอาจจะเป็นหนังสือที่ซึมลึกที่สุดในจำนวนเพียงไม่กี่เล่มก็เป็นได้

หากมีใครสักคนตั้งคำถามขึ้นมาลอยๆ ว่า "คนไทยเป็นใคร" และ "คนไทยมาจากไหน" หนังสือของทองใบก็จะเป็นหนังสือที่ตอบคำถามที่ว่านั้นได้เป็นอย่างดี เสน่ห์และมนต์สะกดของหนังสือของทองใบอยู่ที่การเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไทยด้วย "แผนที่" ดังนั้น ในบทต่างๆ ของแผนที่ประวัติศาสตร์ไทย ก็ทำให้เราเห็นภาพ "แหล่งกำเนิดของไทยแต่โบราณ" ที่เทือกเขาอัลไตในมองโกเลีย เห็นเส้นทางของการอพยพเคลื่อนย้ายของคนไทยที่ถูกจีนรุกราน หนีข้ามแม่น้ำฮวงโห ข้ามกำแพงเมืองจีน ลงมาตั้ง "อาณาจักรลุง อาณาจักรปา" แล้วก็ต้องหนีข้ามแม่น้ำแยงซีลงมาอีก ตั้ง "อาณาจักรน่านเจ้า" ที่เมือง "หนองแส" หรือ "ต้าลี่/ตาลี" ในยูนนาน




ณ บริเวณนี้แหละ ที่ชนชาติไทยซึ่งก็ยังถูกรุกรานโดยจีนครั้งแล้วครั้งเล่า ได้แตกขยายสาขาตามเส้นทางแม่น้ำสาละวินเข้าไปอยู่ในรัฐฉานของพม่า ในอัสสัมของอินเดีย ตามเส้นทางแม่น้ำโขงเข้าไปในสิบสองปันนา เข้าไปในสิบสองจุไท (เวียดนาม) ในลาว และในสยามประเทศ

ณ ที่นี้ในสุวรรณภูมิชนชาติไทยได้รุกเข้ามาในอาณาจักรขอม (เขมร) ช่วงชิงมาได้ก็สถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ตามมาด้วยอยุธยา (ธนบุรี) และรัตนโกสินทร์ ทั้งหมดนี้กินเวลาพันปีมาแล้วจากจุดกำเนิดที่ภูเขาอัลไต

นี่เป็นภาพรวมที่แบบเรียนของทองใบสามารถจะสรุปเรื่องราวอันยืดยาวซับซ้อน ที่เสนอโดยผู้นำของรัฐไทย/สยาม นับตั้งแต่รัชกาลที่ 6 สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ หลวงวิจิตรวาทการ ขุนวิจิตรมาตรา พระยาอนุมานราชธน ตลอดจนนายธนิต (กี) อยู่โพธิ์ อันจะเป็นฐานทางความคิด และการสร้างปรัชญาทางการเมืองว่าด้วย "ชาตินิยม" ที่ดำเนินสอดคล้องไปกับวาทกรรมว่าด้วย "การเสียดินแดน" แม้ว่าในระยะหลังๆ ทฤษฎีหรือแนวความคิดดังกล่าวจะได้รับการตั้งคำถามหรือท้าทายจากนักวิชาการ นักคิดนักเขียนกระแสรอง อย่างเช่น จิตร ภูมิศักดิ์ หรือ สุจิตต์ วงษ์เทศ (ดู "ความเป็นมาของคำสยาม..." ของท่านแรก และหนังสือ "แผนที่ประวัติศาสตร์และแผนที่วัฒนธรรม" ของท่านหลัง 2551) แต่วาทกรรมเหล่านี้ก็ยังคงอยู่กับเรา และอาจจะอยู่ไปอีกนานแสนนาน

เรื่องของ "การเสียดินแดน" ในมโนทัศน์ของบรรดา "รัฐชาติ" ทั้งหลายในอุษาคเนย์ ที่ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งในลาวและในกัมพูชาก็มีวาทกรรมเรื่องเดียวกันนี้ ขอยกตัวอย่างมาสักหนึ่ง คือที่พระราชวังกรุงพนมเปญ มีศาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (จำลอง) ตั้งอยู่ที่ทางออกที่นักท่องเที่ยวจะต้องผ่าน เราทราบกันดีว่ากัมพูชานับถือบูชากษัตริย์พระองค์นี้เพียงไหน ด้านหลังของพระรูปเป็นแผนที่อาณาจักรของพระองค์

ปัจฉิมลิขิต

ผู้เขียนได้รับเชิญไปร่วมสัมมนาระดับของนักศึกษาปริญญาตรีที่ มธ. ในหัวข้อ "การสัมมนาอุษาคเนย์ครั้งที่ 6" วันที่ 30 มกราคม 2552 ในประเด็นว่าด้วย "อคติที่แอบแฝง สู่ความขัดแย้งไม่รู้จบ"




ผู้เขียนรู้สึกทึ่งต่อหัวข้อนี้ที่ดูจะเข้ายุคสมัยมาก ดูจะเกาะกระแสไปกับปัญหาการเมืองระหว่างประเทศภาค "ทวิภาคี" ของไทยและกัมพูชา แต่ก็สอดคล้องกับเรื่องของ "พหุภาคี" กล่าวคือ เรื่องของการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ย้ายแล้วย้ายอีก และท้ายที่สุดจะต้องย้ายไปจัดประชุมกันเขตที่เอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง "หัวหิน" ในปลายเดือนกุมภาพันธ์

หัวข้อดังกล่าวของนักศึกษาดูจะบรรลุวุฒิภาวะเป็นอย่างยิ่ง ต่างกับผู้ใหญ่ "บรรดาอำมาตยเสนา ข้าราชการ กับนักการเมือง และกับนักวิชากระแสหลัก" ที่ดูจะกลายเป็น "เด็กเกเร" งอแง ไม่ยอมโต ไม่รู้แพ้รู้ชนะ ที่ข้ออ้างของ "ความรักชาติ" กำลังกลายเป็น "ล้าหลัง คลั่งชาติ" และกำลังกลายเป็นผลเสียต่อประโยชน์ของประเทศไทย ทั้งในความสัมพันธ์ทวิภาคีและ/หรือพหุภาคี สร้างความร้าวฉานในหมู่ประเทศอาเซียน และที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนคนไทยด้วยกัน ด้วยการแบ่งออกเป็น "เสื้อเหลือง" และ "เสื้อแดง" ด้วยการทุบตีทำร้ายชีวิตร่างกายกัน

และที่เห็นได้ชัด แต่คนชั้นกลางในเมืองหรือคนกรุงอาจไม่สังเกตนักก็คือ ความแตกต่างระหว่างความรักชาติ หรือชาตินิยมของผู้คนที่หมู่บ้านภูมิซรอล จังหวัดศรีสะเกษ ชายแดนเชิงเขาพนมดงรัก กับผู้คนที่ประท้วงกันอยู่ที่สะพานมัฆวานฯ ใน กทม."

นักศึกษา (ใครก็ไม่รู้) ที่ตั้งประเด็นและหัวข้อของการสัมมนาครั้งนี้ว่า "อคติที่แอบแฝง สู่ความขัดแย้งไม่รู้จบ" นั้น ดูจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชานั้น มีรากฐานมาจาก "อคติ" ที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่และผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยนักลัทธิชาตินิยม ทั้งโดยรัฐและโดยเอกชน และเป็นการสร้าง ดำรงอยู่ กับการผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก ในมิติที่เป็น "ลบ" เป็นการ "สร้างความเกลียดชัง" เป็นการ "สร้างศัตรู" และเป็นการ "ทำลาย" ที่สามารถจะไปไกลได้ถึงการสู้รบ การใช้กำลัง เกิดเป็นสงครามขึ้นได้

แทนที่จะสร้าง ดำรงไว้ และผลิตซ้ำ ในมิติที่เป็น "บวก" ให้เป็นการสร้างความรัก ความสมานฉันท์ ความพยายามที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติ สร้างนโยบายเพื่อนบ้านที่ดี ร่วมกันทำมาหากิน สร้างความรัก มากกว่าสร้างสงคราม ดังในคำภาษาอังกฤษที่ว่า Make love not War with Our Neighbors

กล่าวโดยย่อ "อคติ" ด้านลบที่ว่านี้ เกิดมาจากไหน ผู้เขียนคิดว่าเราคงหนีไม่พ้นเรื่องของ "ลัทธิชาตินิยม" ในเวอร์ชั่นต่างๆ ที่สาธยายมานานแล้วข้างต้น แต่ลัทธิดังกล่าวนี้ก็สามารถจะพัฒนาให้เป็น "บวก" ให้เป็นสิ่งดีงาม ทำให้เราเกิดความรัก ความสมานฉันท์ที่จะอยู่ร่วมกับมนุษย์โลกโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา ผิวพรรณ วรรณะได้ไม่ใช่หรือ

แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ด้าน "ลบ" ของมันจะถูกนำมาใช้แล้วใช้อีก และผู้ใช้ส่วนใหญ่ ก็คือ "ผู้ปกครอง" หรือ "ผู้กุมอำนาจรัฐ" ส่วนใหญ่คือคนระดับบนสูงศักดิ์ ที่ใช้ไล่ลงไปร่วมกับคนระดับกลาง คนชั้นกลาง คนในเมือง และคนที่มีการศึกษาตามระบบโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ลัทธิชาตินิยม "ลบ" และ "คับแคบ" และ "อประชาธิปไตย" นี้ มักจะไม่ค่อยพบในคนระดับล่าง บรรดารากหญ้าชาวไร่ชาวนา ผู้หาเช้ากินค่ำ หรือคนที่อยู่บริเวณรอยต่อของชายแดน

ดังนั้น "คดีปราสาทเขาพระวิหาร" จึงเป็นการปะทะกันระหว่าง "ลัทธิชาตินิยมไทย" และ "ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา" เป็นการปะทะกันของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" กับ "ปราสาทศิลาชาตินิยม" ในยกของปี พ.ศ.2505 ที่จบลงด้วยการที่กัมพูชาได้ปราสาทเขาพระวิหารไป

ในยกหลัง การขึ้นทะเบียนมรดกโลกกับยูเนสโก กัมพูชาก็ได้คะแนนเสียงจากตัวแทน 22 ประเทศ ที่ถูกนำมาใช้เป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างไทยกับกัมพูชา และการปะทะกันจนบาดเจ็บล้มตายที่ชายแดน กลายเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่งไม่เพียงเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง "ทวิภาคี" สองประเทศนี้เท่านั้น แต่ยังกระทบกระเทือนต่อ "พหุภาค" ขององค์การอาเซียนอีกด้วย และที่น่าวิตกและใกล้ตัวของเรามากกว่านั้นก็คือ ปัญหาความแตกแยกขัดแย้งกันในการเมืองภายในของคนในชาติ ความแตกแยกของ "เสื้อเหลือง" และ "เสื้อแดง" ฯลฯ

ท้ายที่สุด คำถามของเราก็คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่บ้านเมืองของเราจะมี "ชาตินิยม" เวอร์ชั่นใหม่ที่เป็นของประชาชน และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็น "ประชาชาตินิยม" ที่มาจากระดับและระนาบเดียวกัน (ที่มิใช่เป็น top down โดยอภิสิทธิ์ชน") เป็นชาตินิยมของความมีสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค และความสมานฉันท์แห่งภราดรภาพ

หน้า 20 
วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11359 มติชนรายวัน

 ที่มา : http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01160452&sectionid=0131&day=2009-04-16


______________
Dr. Justin McDaniel
Dept. of Religious Studies
3046 INTN
University of California, Riverside
Riverside, CA 92521
951-827-4530
justinm at ucr.edu



More information about the Tlc mailing list