[Tlc] T-politics
justinm at ucr.edu
justinm at ucr.edu
Mon Sep 15 08:03:26 PDT 2008
Forwarded from a member.
Thanks,
justin
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pol01150951§ionid=0133&day=2008-09-15
วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1146 มติชนรายวัน
วงศ์ตระกูล-ภรรยา-ข้อกล่าวหา หัวใจที่จมน้ำตา "เตช บุนนาค"
สัมภาษณ์พิเศษ
"...ผมพร้อมที่จะฟันฝ่าต่อสู้ไปจนถึงที่สุด จะโดนเขาถากถางอย่างไรทั้งในและนอกสภาก็พร้อม แต่ผมไม่พร้อมถ้าหากว่ามันกระทบกระเทือนจิตใจภรรยาผมจนไม่สบาย..."
คงจะไม่เกินจริงหากจะพูดว่า "เตช บุนนาค" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เรียกเสียงฮือฮาจากสาธารณชนได้ตั้งแต่วันแรกที่เขาตกลงใจรับตำแหน่งดังกล่าว จนกระทั่งวันที่เขาตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง
คำถามและข้อสงสัยมากมายที่เกิดขึ้น ยังไม่ได้รับคำอธิบายใดๆ นอกจากคำให้สัมภาษณ์เพียงครั้งเดียวของ "สมัคร สุนทรเวช" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า "เตช" ถูกกดดันอย่างหนัก
หลังตัดสินใจยื่นใบลาออกได้หนึ่งสัปดาห์ "เตช บุนนาค" เปิดบ้านให้สัมภาษณ์พิเศษครั้งแรกกับ "มติชน" บอกเล่าถึงแรงกดดันที่พบเจอ และเหตุผลทั้งหมดที่ทำให้เขาตัดสินใจทิ้งเก้าอี้เจ้ากระทรวงบัวแก้ว ทั้งที่เพิ่งทำงานมาได้เพียง 39 วัน
- เหตุผลที่แท้จริงในการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ท่ามกลางกระแสการเมืองวิกฤต
ผมส่งจดหมายลาออกบ่ายวันที่ 3 กันยายน วันนั้น ผมมาถึงกระทรวงแต่เช้า ท่านทูตโซมาเลียมาพบ เพราะมีเรือประมงไทยที่ถูกโจรสลัดจับไป เสร็จแล้วก็มาประชุมระดับอธิบดี เพื่อเล่าให้ข้าราชการ ซี 10 ฟังว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) คุยอะไรกันในวันอังคาร (2 กันยายน 2551) และติดตามงานที่ได้สั่งไป ประชุมเสร็จอีก 20 นาทีจะเที่ยง ผมดูโทรศัพท์ปรากฏว่ามีมิสคอล 2 มิสคอล จาก ยาใจ (บุตรสาว) เลยโทรศัพท์กลับมาที่บ้าน ยาใจบอกว่าแม่ (คุณติ๋ม เพ็ญศรี บุนนาค ภริยา) สั่นมาตั้งแต่เช้าแล้วก็ฟุบไป ตอนนั้นมีอี-เมลเข้ามา ผมก็ยกร่างตอบอี-เมลไป และลงไปทานข้าว เพราะผมต้องการคิดด้วยว่า จะเขียนจดหมายอย่างไร ทานข้าวเสร็จผมก็ร่างหนังสือลาออก พอผมส่งหนังสือลาออกให้รองสหัส (นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงการต่างประเทศ) เรียบร้อย ผมก็รีบไปโรงพยาบาล ไม่ไ
ด้ลาใครเลยในกระทรวง เพราะรีบไปจริงๆ เป็นห่วง
ดังนั้น ที่ท่านนายกฯพูดว่าผมลาออกเพราะสุขภาพคุณติ๋มนั้นเป็นเรื่องจริง เหตุผลสำคัญที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของผมคือ สุขภาพของภริยาในวันนั้น
ในหนังสือลาออก ผมบอกกราบเรียนนายกฯ ตามที่ท่านได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และได้ขอพระราชทานผม ซึ่งเป็นข้าราชการในพระองค์มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นับตั้งแต่วันแรกที่ผมปฏิบัติหน้าที่ ผมได้พยายามอย่างดีที่สุดที่จะปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาให้ดีขึ้น หลังจากสถานการณ์ระหว่างประเทศทั้งสองตึงเครียด สืบเนื่องจากปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก หลังจากการประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศไทยกับกัมพูชา ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ผมเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาเกือบจะปกติแล้ว และสามารถเข้าสู่ครรลองของการเจรจาทางเทคนิค โดยอาศัยกลไกที่มีอยู่ได้ หากรัฐสภาเห็นชอบกรอบการเจรจาตามที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนด
หนังสือขอลาออกของผมบอกว่า ตลอดระยะเวลาเดือนกว่าที่ผมปฏิบัติหน้าที่ ผมถูกกดดันอย่างหนักจากหลายฝ่าย ซึ่งกระทบกระเทือนจิตใจของภริยาของผมอย่างหนัก ตามที่ท่านนายกฯท่านพูดไป แต่มันไม่ใช่เรื่องความกดดันและสุขภาพของคุณติ๋มเท่านั้น เพราะมีอีกสามข้อที่ท่านนายกฯ ท่านไม่ได้กล่าวถึง คือนอกจากนั้นสถานการณ์การเมืองภายในของไทย ซึ่งรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จนมีการปะทะกันจนเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส โดยท่านนายกฯได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 กันยายน ซึ่งไม่เอื้ออำนวยให้ผมสามารถทำงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มีการส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ ด้วยการที่เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ ลาออก
เลขานุการรัฐมนตรีของผมคือ คุณปกศักดิ์ (นิลอุบล) ได้ลาออก เมื่อวันที่ 2 กันยายน ซึ่งผมก็อนุมัติ การที่เลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่รัฐมนตรีเลือกมาอย่างดี แล้วลาออก มันย่อมต้องกระทบกระเทือนจิตใจของคนเป็นรัฐมนตรี เพราะคนที่ตนเองเลือกมาเป็นเลขานุการฝ่ายการเมือง เขายังลาออก รัฐมนตรีจะอยู่ได้หรือ อย่าลืมว่าตอนนั้นมีคนตายไปแล้ว 1 คน และยังมีคนบาดเจ็บอีกหลายสิบคน มันทำให้ผมและคุณติ๋ม ครอบครัวเราลำบากใจอย่างยิ่งว่าเราจะอยู่กับรัฐบาลนี้ไปได้หรือไม่
และข้อสามคือ ด้วยจะมีการดำเนินการเจรจาในลักษณะที่ยากจะเป็นไปได้ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามก็จะตราหน้ารัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศว่า ขายชาติ อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นการที่ผมอ้างถึงความยากลำบากในการที่จะเจรจาต่อไปภายใต้ มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ผมจบจดหมายลงด้วยว่า ดังนั้น ผมจึงใคร่ขอลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผมขอขอบพระคุณท่านนายกฯที่ให้เกียรติและความไว้วางใจผมอย่างสูงในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งผมจะไม่มีวันลืม ซึ่งอันนี้ผมเขียนด้วยความจริงใจ และก็เป็นข้อเท็จจริงด้วยว่าท่านนายกฯให้เกียรติและให้ความไว้วางใจผมอย่างสูงมาก ท่านบอกว่าคุณเตชอยากจะดำเนินการเจรจา หรืออยากจะทำอะไร คุณเตชว่าไปเลย
- ฟังเหมือนกับว่าคิดถึงการลาออกตั้งแต่วันแรกๆ ที่รับตำแหน่ง
อันนี้แน่นอน ที่จริงผมรู้สึกตั้งแต่วันที่ผมไปประชุมที่เสียมเรียบเมื่อ วันที่ 28 กรกฎาคม (การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศไทย-กัมพูชาครั้งแรก) และได้ทำให้บรรยากาศดีขึ้นว่าผมได้ทำหน้าที่แล้ว เพราะหลังจากนั้นทุกอย่างมันจะเข้าสู่ครรลอง มีการประชุมครั้งที่สองในวันที่ 19 สิงหาคม ซึ่งเป็นการยืนยันว่าทุกอย่างเกือบจะปกติและเข้าสู่ครรลองของการเจรจาทางเทคนิคคือ เจบีซี (คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา) ได้
หลังการประชุมเมื่อ วันที่ 19 สิงหาคม ก็มีการตกลงกันว่าจะมีการพบกันอีกครั้งระหว่างทหารที่เสียมเรียบในวันที่ 29 สิงหาคม เพื่อการนี้ฝ่ายกัมพูชาได้ส่งทหารระดับสูงมากของเขามาที่กรุงเทพฯ และได้มีการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 27-28 สิงหาคม เพื่อจะไปประชุมกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 สิงหาคม แต่การประชุมนั้นไม่ได้มีขึ้นด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ฝ่ายไทยยังไม่มีมติ ครม. และฝ่ายกัมพูชากำลังจะตั้ง ครม.ใหม่
สำหรับฝ่ายไทยเหตุผลที่ยังไม่มีมติ ครม.เพราะ ฝ่ายพันธมิตรเข้าไปยึดทำเนียบในวันที่ 26 สิงหาคม ซึ่งถ้าเหตุการณ์เป็นปกติ ผมกะว่าผมจะถือรายงานผลการประชุม วันที่ 19 สิงหาคม ไปมอบให้ท่านนายกฯ ด้วยตนเอง แบบที่เคยทำเมื่อ วันที่ 29 กรกฎาคม ถ้าเป็นแบบนั้นท่านนายกฯก็จะบอกให้เป็นวาระจรแรก ก่อนจะเข้าระเบียบวาระปกติ มีการถกแถลงกันและมีมติออกมา ในที่สุดเลยไม่ได้เข้าเมื่อ วันที่ 26 สิงหาคม จนถึงวันที่ 2 กันยายน เพราะถ้าเผื่อเข้าได้ในวันที่ 26 สิงหาคม ทหารเขาจะไปประชุมกันได้ในวันที่ 29 สิงหาคม ตอนนี้ทุกอย่างมันก็เลยช้าลง และตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคมเป็นต้นมา การเมืองก็ปั่นป่วนและวุ่นวายมาก
- เมื่อลาออกแล้ว มองว่าเรื่องการแก้ไขปัญหาไทยกัมพูชาจะเดินไปอย่างไรต่อจากนี้
ตอนนี้ผมไม่ทราบแล้วว่า อะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าถอยไป ทหารเขาตกลงว่าจะมีการประชุมกับฝ่ายกัมพูชาในวันที่ 8-10 กันยายนอีกครั้ง เพื่อปรับกำลังกันอีกรอบหนึ่ง ผมก็คาดว่ามันคงไม่มีการประชุมกัน เพราะมติ ครม. 2 กันยายน เพิ่งพิมพ์เสร็จ และออกมาวันที่ 8 กันยายนนี่เอง ดังนั้น ที่เขาตกลงกันว่าจะประชุมนั้นคงเป็นไปไม่ได้ และตอนนี้เราก็ไม่มีรัฐบาล ทหารเขาก็คงไม่สามารถจะไปประชุมอะไรได้
- ความพยายามต่างๆ ที่ดำเนินการมาเพื่อแก้ไขปัญหาไทย-กัมพูชา ต้องประสบภาวะชะงักงันจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ
แน่นอน มันเกิดภาวะชะงักงัน ตอนที่ผมพูดถึงประเด็นที่สามว่าด้วยจะมีการดำเนินการเจรจาในลักษณะที่ยากที่จะเป็นไปได้ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามก็จะตราหน้ารัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศว่า ขายชาติ ในสภาวะการณ์การเมืองปัจจุบัน ทางฝ่ายค้านในสภาก็ดี ฝ่ายค้านนอกสภาก็ดี ก็ยังติดใจเรื่องประเด็นปราสาทพระวิหารอยู่ เสร็จแล้วก็จะมีประเด็นเรื่องตาเมือนเข้ามาอีก ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันหลังจากมีมติ ครม.ออกมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน สำนักเลขาธิการ ครม. ก็ต้องแจ้งไปที่สำนักเลขาธิการรัฐสภา เพื่อให้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยมีกรอบการเจรจาเสนอไปด้วย ซึ่งกรอบการเจรจาได้มีการตกลงกรอบกับฝ่ายกัมพูชาไว้แล้ว
เคยมีผู้สื่อข่าวถามว่า ผมเห็นว่ามาตรา 190 เป็นอุปสรรคหรือไม่ ผมตอบว่าเมื่อตอนผมไปถวายสัตย์ฯ พระบาทสมเด็จเพราะเจ้าอยู่หัว ข้อสุดท้ายของการถวายสัตย์ฯ เขาจะให้เราพูดว่า จะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกประการ เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อผมปฏิบัติตามสัตย์ปฏิญาณที่ถวาย ผมก็จะต้องปฏิบัติตามนี้ ซึ่งก็ได้ดำเนินการตามหนังสือทั้งสองฉบับที่มีถึง ครม.ว่า เรื่องนี้จะต้องไปรัฐสภา ดังนั้น เมื่อเป็นมาตราที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วจะถือว่าเป็นอุปสรรคไม่ได้
แต่ว่าเมื่อพูดว่าไม่เป็นอุปสรรคแล้วมันก็ยาก เพราะฝ่ายค้านทั้งในและนอกสภาเขาก็ยังติดใจเรื่องปราสาทพระวิหาร นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็ยังติดใจอยู่ บอกว่าจะต้องไปทวงคืนมาให้ได้ และก็เป็นประเด็นที่ยังสามารถปลุกระดมความรู้สึกชาตินิยม หรือที่นักวิชาการอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า เป็นพวกคลั่งชาติได้
ในสภาวการณ์เช่นนี้ผมถึงได้บอกว่ามันยากที่จะเป็นไปได้ และก็หากไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งก็จะต้องปฏิบัติตาม ไอ้ที่บอกว่าปฏิบัติตามคืออะไร ปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายชาตินิยมทั้งในและนอกรัฐสภา และถ้าเผื่อว่าทำไม่สำเร็จก็จะตราหน้ารัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศว่าขายชาติ
ทางฝ่ายชาตินิยมเขาจะไม่คำนึงถึงความเป็นมาของปัญหานี้ตั้งแต่สมัย ร.5 เขาจะไม่เคารพในคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อ 2505 และเขาก็ยังรณรงค์อยู่เต็มที่ พันธมิตรก็ยังพูดกันอยู่ว่าเรื่องปราสาทพระวิหารยังเป็นประเด็น แล้วอย่างนี้เราจะเจรจากับทางกัมพูชาได้อย่างไร
- ดูเหมือนการเมืองในประเทศขณะนี้ทำให้ระบบการทำงานทุกอย่างรวนไปหมด
ใช่..และจะไม่ใช่กับกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น กับกระทรวงพาณิชย์ เรื่องห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือการเจรจาการค้าหลายฝ่ายรอบโดฮาก็เกิดปัญหา
- ในการทำงานมีอุปสรรคมากมายที่พบเจอ แต่ชนวนสุดท้ายที่ทำให้ตัดสินใจลาออกคือ ที่ภริยาล้มป่วย
มันสะสมมานาน เวลาดูประวัติศาสตร์ก็จะดูว่าอะไรคือ ชนวน (Trigger) ก็แน่นอนคือ สุขภาพของคุณติ๋ม แต่มันคิดถึงเรื่องนี้มาก่อนหน้านั้น ตอนที่คุณปกศักดิ์ลาออก หรือก่อนหน้านั้นก็คิดมาตลอด
สำหรับผม คุณติ๋มมาก่อนสิ่งอื่นใด ทั้งๆ ที่ในใจของผม ผมพร้อมที่จะต่อสู้ ผมพร้อมที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 มาตรา 190 ทั้งๆ ที่มันจะยากลำบากอย่างไร เพราะผมเห็นว่า ถ้าเผื่อผมจะทำอะไรที่ถูกต้อง ผมพร้อมที่จะทำ เสร็จแล้วก็มีคนที่สนับสนุนผม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักกฎหมาย นักการเมือง และผู้ใหญ่ในบ้านเมือง คนที่สนับสนุนผมก็มี
- ที่บอกว่ามีแรงกดดันนับแต่วันแรกเป็นอย่างไร
แรงกดดันมีมากอย่างมหาศาล แต่ผมไม่ได้บ่นและไม่ได้พูด มีผู้ใหญ่ที่พูดกับผมซึ่งทำให้ผมเจ็บมาก คนบางคนต้องบอกว่าโทรศัพท์มาตะโกน ตะคอกใส่ก็มี มีคนที่ผมเคารพรัก สนิท นับถือมาตลอดชีวิต ไม่พูดกับผมเลยในระหว่าง 39 วันก็มี เพิ่งมาดีด้วยวันนี้ก็มี นี่กับผมเองนะ
กับคุณติ๋มก็มีการพาดพิงไปถึงหลาน ซึ่งก็เป็นเด็กที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรที่ไปทำงานกับรัฐมนตรีนพดล (ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ) ซึ่งเขาก็ไม่เคยรับเงินเดือนจากคุณนพดลเลยแม้แดงเดียว มีการพูดพาดพิงไปถึงน้องสาวคุณติ๋ม ซึ่งทั้งสองคนนี่เขาไม่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกันมาไม่รู้จะกี่ปีแล้ว และด้วยเหตุผลนี้ก็ไม่ได้พบกันไม่รู้กี่เดือนแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็กดดันกันมากพอสมควร อย่างไม่ยุติธรรม
- ก่อนรับตำแหน่งคิดว่าต้องเจออะไรมากขนาดนี้หรือไม่
ทราบ แต่อย่างที่ผมได้พูดว่าท่านนายกฯสมัครไปขอพระราชทานผม ผมเป็นข้าราชการในพระองค์ ก็เป็นข้าราชการ ผมไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ ใช้ศัพท์คุณสมัครก็บอกว่ายากที่จะปฏิเสธ ผมถือว่าเป็นหน้าที่ แต่ผมก็พูดกับผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือกันว่า ผมรู้สึกว่าเมื่อผมทำสำเร็จในวันที่ 28 กรกฎาคม ผมก็ไปได้แล้ว
- หมายความว่าเมื่อเทียบกับแรงกดดันที่เจอ อยู่สั้นเท่าไหร่ก็ดีเท่านั้น
(เงียบไปสักพัก)..มันก็เป็นอย่างนั้น หลังจากที่ผมลาออก เมื่อวันที่ 4 กันยายน มีคนในสกุลผมพูดดังๆ ในที่สาธารณะว่า ดีแล้วที่เขาลาออก ไม่งั้นก็จะทำให้เสียชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูล พูดกันอย่างนี้
- สะเทือนใจหรือไม่ ที่แม้แต่คนใกล้ตัวก็ดูเหมือนจะไม่เข้าใจ
ก็แน่นอนว่าสะเทือนใจ แต่คนที่สนับสนุนให้กำลังใจก็มีมาก ซึ่งผมก็ขอบคุณมาก ตั้งแต่วันแรกที่ผมมารับตำแหน่ง มีคนเขียนจดหมาย เอสเอ็มเอส อี-เมลเข้ามาให้กำลังใจอย่างมากมาย จนกระทั่งตอนนี้ผมก็ยังตอบไม่หมด เพราะผมตอบเองทุกคน ตอนนี้ก็เป็นว่ากว่าจะได้ตอบก็พ้นจากตำแหน่งพอดี
- ครอบครัวเป็นอย่างไรบ้างเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์อย่างนั้น
เขาก็สะเทือนใจ และเขาก็อ่อนไหว
- ในสิ่งที่เจอมาทั้งหมดตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง อะไรที่ทำให้รู้สึกแย่ที่สุด
(นิ่งคิด) คนที่เราเคารพนับถือตั้งข้อสงสัย ซึ่งก็เจ็บมาก ถึงแม้ว่าทีหลังเขาจะมาดีด้วย แต่เราเจ็บแล้ว
- มองว่าการเข้ามาทำงานการเมืองเป็นเรื่องเสียสละมากเกินไปหรือไม่
ผมไม่เคยคิดว่าผมเข้ามาทำงานการเมืองเลย ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นข้าราชการอยู่ตลอด ในชีวิตก็ถือว่าเป็นข้าราชการ ซึ่งเรามีหน้าที่ก็ปฏิบัติ อย่างที่บอกไป ผมพร้อมที่จะฟันฝ่าต่อสู้ไปจนถึงที่สุด จะโดนเขาถากถางอย่างไรทั้งในและนอกสภาผมก็พร้อม
แต่ผมไม่พร้อมถ้าหากว่ามันกระทบกระเทือนจิตใจภรรยาผมจนไม่สบาย เพราะภรรยาผมได้เสียสละทุกอย่างเพื่อผมมาตลอด ถ้าเขาไม่ได้มาแต่งงานกับผม ป่านนี้เขาก็คงเป็นทูตไปแล้ว เพื่อนฝูงเขาทุกคนก็เป็น ซี 10 กันหมด เป็นทูตกันไปหมดแล้ว
- เคยบอกว่าถ้าถูกบีบให้ทำอะไรไม่ถูกต้องก็จะลาออก
มันยังไม่ถึงตรงนั้น ท่านนายกฯไม่เคยบีบให้ผมทำอะไรไม่ถูกต้อง ท่านให้เกียรติผมมาก
- เมื่อถอยออกมาจากตำแหน่งแล้ว ณ วันนี้รู้สึกอย่างไร
รู้สึกดีขึ้นมาก ต้องบอกว่าคืนวันที่ 3 กันยายน เป็นคืนแรกที่ผมนอนหลับสนิท และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็นอนดี
- แสดงว่าตั้งแต่รับตำแหน่งก็เครียดมาตลอด
ก็เครียดมาตลอด ปกติผมจะเป็นคนตื่นเช้า ตี 5 ครึ่ง หรือ 6 โมงเช้าผมก็ลุกแล้ว ผมชอบรับประทานอาหารเร็ว ตอนเย็นๆ จะได้มีเวลาอ่านหนังสือหรือทำอะไรต่างๆ ตอนเป็นรัฐมนตรี 39 วัน ตลอดทั้งวันผมรับแขก ถึงตอนเย็นก็เซ็นแฟ้ม และเอาแฟ้มกลับมาทำที่บ้าน กว่าจะได้นอนก็ราวตี 1 ตี 2 ทุกคืน อีก 4 ชั่วโมงก็ลุกขึ้น
ในเมื่อคนเขามีความหวังมาก เราก็ไม่อยากให้คนเขาผิดหวัง บางวัน 7 โมงครึ่งผมออกจากบ้านไปกระทรวงแล้ว เพราะรู้ว่าทุกคนรวมทั้งข้าราชการกระทรวงส่วนใหญ่ 99% เขาให้ความหวังไว้กับผมมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นผมก็ต้องทำงานให้เขาอย่างเต็มที่
- จากที่ทำงานด้านต่างประเทศมาตลอด มองว่าภาพลักษณ์ประเทศไทยวันนี้เป็นอย่างไร
มันก็แย่ ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ เห็นแล้วก็เดือดร้อน ก็ไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น หลังจากนี้ทุกคนก็ต้องช่วยกันฟื้นฟูประเทศต่อไป แต่มันก็ต้องใช้เวลา
- ในฐานะนักประวัติศาสตร์ มองอย่างไรกับข้อเสนอให้มีการสรรหา ส.ส.แบบเลือกตั้งและแต่งตั้งพร้อมกัน
ผมเห็นว่าเราจะเป็นประชาธิปไตยก็เป็น จะไม่เป็นก็ไม่เป็น ให้ชัดเจนกันไปเลย เรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 เราได้วิวัฒนาการกันมาจนถึงรัฐธรรมนูญที่เราเรียกว่า ฉบับประชาชน 2540 เราควรจะมีแต่เดินหน้า ไม่ใช่ถอยหลังเข้าคลอง
- พูดถึงคุณสาโรจน์ ชวนะวิรัช ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศแทน
คุณสาโรจน์เป็นคนที่มีความสามารถมาก เป็นปลัดกระทรวงก่อนผม เป็นผู้รู้เรื่องรู้ราวการเจรจาเป็นอย่างดีเยี่ยม และผมก็จะสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่
- ถ้าจะให้คำจำกัดความถึง 39 วัน ในตำแหน่งรัฐมนตรี
เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก มีค่ามากจริงๆ ในทุกแง่ ผมไม่เคยไปประชุม ครม.มาก่อน ไม่เคยไปประชุมรัฐสภา หรือตอบกระทู้สดมาก่อน เดี๋ยวนี้ผมไปทำมาแล้วทั้งนั้น ผมเห็นว่ามันเป็นกำไรชีวิตสำหรับผม
ผมเจ็บปวด ภริยาผมป่วย แต่ผมเห็นว่าในที่สุดแล้วมันคุ้ม มันทำให้เราเรียนรู้อะไรอีกเยอะ ทำให้เราเรียนรู้ว่าต้องปลง คนที่เรารัก คนที่เรานับถือ สามารถที่จะเมินหน้าเฉยเมยไม่พูดกับเราได้เป็นเวลา 39 วัน แล้วก็มาดีด้วยเมื่อวานนี้ แต่มันอาจจะช้าไปเสียแล้ว
เวลาที่เราผ่านเวลาแบบนี้มาแล้ว เราจะรู้ว่าเพื่อนที่แท้จริงของเราคือใคร และเราก็ดีใจที่คนจำนวนมากที่สนับสนุนให้กำลังใจเราด้วยความจริงใจ ซึ่งประทับใจมาก
______________
Dr. Justin McDaniel
Dept. of Religious Studies
3046 INTN
University of California, Riverside
Riverside, CA 92521
951-827-4530
justinm at ucr.edu
More information about the Tlc
mailing list