[Tlc] T-politics

justinm at ucr.edu justinm at ucr.edu
Mon Dec 22 00:07:01 PST 2008


Forwarded from Dr. Michael Nelson.
Thanks,
justin

Matichon, Dec. 22

คนไทย คนต่างชาติ และการหมิ่นพระมหากษัตริย์ไทย

โดย ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร



เป็นเรื่องบังเอิญอย่างมากที่ผู้เขียนได้พบบทความเรื่อง "หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์" ของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร (ซึ่งแสดงอยู่ในเว็บไซต์ของมติชนรายวัน ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2551) หลังจากที่ก่อนหน้านั้นประมาณครึ่งชั่วโมงผู้เขียนได้เขียนอี-เมลฉบับหนึ่งถึงเพื่อนชาวต่างชาติต่อกรณีบทความที่ตีพิมพ์ลงใน "The Economist" ฉบับวันที่ 6-12 ธันวาคม 2551

ใจความหลักๆ สองประการที่ผู้เขียนได้บอกกับเพื่อนชาวต่างชาติ (ซึ่งได้กรุณาให้ The Economist ฉบับดังกล่าวมา) และตรงกับที่ พล.ต.อ.วสิษฐ เขียนนั้นคือเรื่องความไม่รู้ข้อเท็จจริงหลายอย่างของนักเขียนต่างชาติ และเรื่องเกี่ยวกับคนไทยที่อ่านออกและเขียนภาษาอังกฤษได้

ในประเด็นหลังนี้ความเห็นของผู้เขียนกับ พล.ต.อ.วสิษฐ อยู่ในมุมเดียวกันแต่เป็นคนละบริบท

ในประเด็นเรื่องความไม่รู้ข้อเท็จจริงของนักเขียนต่างชาตินี้ ผู้เขียนขออธิบายโดยอิงกับบทความเรื่อง "A right royal mass" ใน The Economist เป็นหลัก

ผู้เขียนได้บอกกับเพื่อนต่างชาติ (ซึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยของรัฐในเมืองไทยประมาณ 2-3 ปี และเข้าใจการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยพอสมควร) ไปว่า บทความดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะหมิ่นพระมหากษัตริย์ของไทยโดยตรง

เนื้อหาของบทความนำเสนอแต่ภาพลบที่มีต่อพระมหากษัตริย์ไทย (และเชื้อพระวงศ์) และมิได้นำเสนอภาพในด้านอื่นๆ อย่างครอบคลุมและสมดุล

อาจจะเป็นไปได้ว่าคนหรือกลุ่มคนที่เขียนบทความดังกล่าวอาจจะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อระบบกษัตริย์และต้องการโจมตีโดยใช้วิธีการเช่นเดียวกับที่หลายๆ คนทำกันในกรณีของราชวงศ์อังกฤษ

แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม บทความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความไม่รู้(ในข้อเท็จจริง) และความไม่เข้าใจ(ในความจงรักภักดีหรือความกตัญญูที่คนไทยมีต่อ "ในหลวง" ของเขา)

ยิ่งไปกว่านั้น บทความชิ้นนี้ยังได้นำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเมืองไทยหลายประการ

ตัวอย่างเช่น ในบทความกล่าวว่า นายสมัคร สุนทรเวช ถูกให้ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุที่ไปอยู่ในรายการทำอาหาร ผู้เขียนได้บอกกับเพื่อนชาวต่างชาติไปว่า การที่นายสมัคร ไปทำกับข้าวในรายการโทรทัศน์นั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ใครๆ ก็ทำได้

แต่ปัญหาก็คือว่านายสมัคร ไปรับค่าตอบแทนซึ่งขัดต่อกฎหมายที่เขียนไว้เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรี

ผู้เขียนอาจจะไม่ติดใจในเรื่องนี้มากนักหากนี่เป็นครั้งแรกที่ได้รับรู้ว่ามีคนเข้าใจผิด

แต่นี่เป็นครั้งที่สองหลังจากที่ครั้งแรกมีอาจารย์ชาวต่างชาติผู้หนึ่งถามผู้เขียนในเรื่องของนายสมัคร กับการทำกับข้าวออกรายการโทรทัศน์ ตรงนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนเข้าใจในทันทีว่าการรายงานข่าวหรือข้อเท็จจริงของนักข่าวหรือนักเขียนชาวต่างชาติ (ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศไทย) นั้นสร้างความสับสนและเข้าใจผิดให้แก่ผู้อ่านเป็นอย่างมาก

ถ้ากล่าวแบบภาษาบ้านๆ ก็คือคนเขียนหรือกลุ่มคนที่เขียนนี้เป็นประเภท "นั่งเทียนเขียน"

ผู้เขียนยอมรับว่าบทความดังกล่าวสร้างความหงุดหงิดและผิดหวังต่อ The Economist เป็นอย่างมาก นิตยสารฉบับนี้อาจจะมีบทวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐกิจที่ดีเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับบทวิเคราะห์ทางด้านการเมืองแล้ว The Economist คงต้องปรับปรุงอีกมาก

ประเด็นที่สองที่ พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวถึงเกี่ยวกับความหัวอ่อนหรือที่ใช้คำว่า "โรคปัญญาอ่อน" ของคนไทยที่รู้ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะคนที่เรียนจบจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษแต่กลับไปหลงใหลได้ปลื้มกับข้อเท็จ(และไม่จริง) ของนักเขียนและนักวิชาการต่างชาติที่มักจะหมิ่นพระมหากษัตริย์ไทย

ในประเด็นนี้ผู้เขียนไม่มีข้อมูลมากนักแต่ก็เห็นคล้อยตามกับ พล.ต.อ.วสิษฐ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้รู้และมีข้อเขียนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในหลายๆ เรื่อง ส่วนที่ผู้เขียนเห็นพ้องและบอกกับเพื่อนต่างชาติไปก็คือ เป็นที่น่าเสียดายว่าประเทศไทยมีผู้ที่อ่านออกและเขียนภาษาอังกฤษได้ (ทั้งที่เป็นนักวิชาการและไม่ใช่นักวิชาการ) เป็นจำนวนมาก (ผู้เขียนไม่นับรวมตนเองอยู่ในกลุ่มนี้เนื่องจากยังไม่มั่นใจในทักษะทางภาษาอังกฤษของตนเองมากนัก)

แต่กลุ่มคนเหล่านี้กลับนิ่งเฉยและไม่ยอมตอบโต้ข้อเขียนที่เป็นเท็จและแสดงถึงความไม่เข้าใจในระบบกษัตริย์และการเมืองไทยที่นำเสนอโดยชาวต่างชาติ

ที่แย่ไปกว่านั้น (ตามที่ พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวไว้) กลับไปเห็นดีเห็นงามกับข้อเขียนต่างๆ เหล่านั้นโดยมิได้นึกถึงข้อเท็จจริงหรือแม้แต่ศึกษาพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย

ประเด็นสุดท้ายและเป็นประเด็นต่อเนื่องที่ผู้เขียนอยากจะขอกล่าวถึงในที่นี้คือเรื่องความจงรักภักดี ซึ่งขอแปลความหมายแบบง่ายๆ ว่า ความกตัญญู

ผู้เขียนยอมรับว่าในวัยเด็ก (ก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย) ผู้เขียนไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมากนัก รู้แต่เพียงว่า ช่วงแรกของข่าวสองทุ่มจะเป็นข่าวพระราชกรณียกิจ เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีก็ต้องหยุดยืนตรง และเมื่อเข้าโรงหนังก็จะต้องมีเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนที่หนังจะฉาย ซึ่งผู้เขียนไม่เคยทราบเลยว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น

แต่เมื่อผู้เขียนได้รับทราบและติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งจากหนังสือ คำบอกเล่า อี-เมล และสื่อต่างๆ ทำให้ผู้เขียนเริ่มเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปยังสถานที่ห่างไกลในชนบท

จริงอยู่ว่าพระองค์ไม่จำเป็นต้องตรากตรำพระวรกายเช่นนั้น แต่พระองค์ก็ทรงทำโดยมิได้คำนึงถึงความสุขส่วนพระองค์ เพื่อต้องการรับทราบถึงปัญหาของพสกนิกรชาวไทยด้วยพระองค์เอง

จากจุดเริ่มต้นตรงนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าคนไทยหลายสิบล้านคนกำลังเอาเปรียบคนไทยคน (พระองค์) หนึ่งและการไม่จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เท่ากับเป็นการอกตัญญูต่อพระองค์ ด้วยเหตุที่ว่าพระองค์ทรงทำเพื่อคนไทยทั้งชาติ แต่คนไทยบางส่วนกลับไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวนี้

ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยเล่าให้เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งฟังว่า ในอดีตหนึ่งในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจบใหม่ด้วยพระองค์เอง เพื่อให้บัณฑิตเหล่านั้นภาคภูมิใจในปริญญาที่ตนได้รับ

หลังจากเล่าจบ เพื่อนชาวญี่ปุ่นคนนั้นได้กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง (He is a real king.)

สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้วเป็นเรื่องยากมากที่จะได้ใกล้ชิดหรือแม้แต่เห็นกษัตริย์ของตนอย่างเต็มตา

จนถึง ณ จุดนี้ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่า คนคนหนึ่งอาจเลือกที่จะกตัญญูหรืออกตัญญูต่อใครก็ตามที่ตนต้องการ แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราแล้ว ท่าน (ผู้อ่าน) คงต้องถามตัวเองว่าท่านจะเป็นคนหนึ่งที่อกตัญญูต่อพระองค์หรือไม่

การนิ่งเฉยหรือการไม่พยายามชี้แจงแถลงไขต่อใครก็ตามที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทย ผู้เขียนนับรวมว่าพฤติกรรมเช่นนั้นก็ไม่ต่างจากการอกตัญญูต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราเช่นกัน

หน้า 7

--- justinm at ucr.edu <
______________
Dr. Justin McDaniel
Dept. of Religious Studies
3046 INTN
University of California, Riverside
Riverside, CA 92521
951-827-4530
justinm at ucr.edu



More information about the Tlc mailing list